10 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ โรคไมเกรน อาการปวดหัวที่คอยกวนใจคนวัยทำงาน

10 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ โรคไมเกรน อาการปวดหัวที่คอยกวนใจคนวัยทำงาน

โรคไมเกรน อาการปวดหัวที่มักจะเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว แถมยังมีอาการที่รุนแรง ไม่เป็นอันทำงานทำการ กระทบต่อการใช้ชีวิต และการทำงานอย่างมาก วันนี้ Goodlifeupdate จึงขอนำ 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคไมเกรน โรคปวดหัว ที่ชวนให้ปวดหัวมาฝากทุกคนกันค่ะ

1 ส่วนใหญ่พบในคนวัยทำงาน

โรคไมเกรนนั้นส่วนใหญ่จะพบในคนวัยทำงาน ช่วงอายุ 20 – 40 ปี

2 ผู้หญิงเป็นโรคไมเกรนมากกว่าผู้ชาย

ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคไมเกรนมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไมเกรนนั้นมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศหญิงจึงทำให้พบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงวัยทำงาน เป็นวัยที่ระบบฮอร์โมนยังมีการเปลี่ยนไปมา ไม่คงที่ จึงยิ่งทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนขึ้นได้

โรคไมเกรน

3 มีความรุนแรงมากกว่าที่คิด

องค์การอนามัยโลกจัดให้โรคไมเกรนเป็นโรคที่ทำให้เกิดทุพพลภาพมากเป็นอันดับ 1 ของโลก เนื่องจากเมื่อเกิดอาการไมเกรนขึ้นแล้ว จะทำให้บุคคลคนนั้นไม่สามารถที่จะทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ยิ่งถ้ามีการเรื้อรัง เป็นบ่อยครั้ง อาจทำให้เสียการเสียงาน จนไม่เป็นอันทำอะไรได้

4 สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

โรคไมเกรนเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ถ้าหากเรามีพ่อแม่ หรือคนในครอบครัวเป็นโรคไมเกรน เราก็มีโอกาสที่จะเป็นด้วยเช่นกัน

โรคไมเกรน

5 รักษาไมเกรนด้วยการปรับพฤติกรรมได้

นอกจากการกินยาแล้ว การปรับพฤติกรรม และวิถีชีวิตของเราให้เหมาะสม ยังเป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการ และลดโอกาสที่จะเกิดโรคไมเกรนได้ดีมาก ด้วยการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรน ผ่อนคลายความเครียด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

6 การดมยาดม ไม่ช่วยให้หายปวดหัวไมเกรน

เมื่อเกิดอาการปวดหัว สิ่งที่เรามักนึกถึงเป็นอย่างแรก ๆ คือ การดม “ยาดม” แต่สำหรับการปวดหัวไมเกรนนั้น การดมยาดมอาจไม่ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น แถมยังอาจทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิมอีกด้วย เพราะเมื่อเรามีอาการปวดหัวไมเกรน ประสาทรับความรู้สึกของเราจะไวต่อสัมผัสต่างๆ มากขึ้น เมื่อเราได้ยินยาดม หรือ ยาหม่อง ในผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกปวดหัวหนักยิ่งกว่าเดิมได้

7 วิธีรักษาที่ดีที่สุดคือ การกินยา และ นอนพักนิ่ง ๆ 

เมื่อรู้สึกปวดหัวไมเกรนกำเริบ เราควรรีบหยุดทำงาน หยุดจ้องคอมพิวเตอร์ หยุดจ้องโทรศัพท์มือถือ นั่งหรือนอนพักผ่อน ตัดสิ่งเร้าต่างๆ ที่อาจกระตุ้นให้รู้สึกปวดหัวยิ่งขึ้น เช่น เสียงสว่าง เสียงดังต่างๆ แรงสั่นสะเทือน กลิ่นต่างๆ เพื่อให้ร่างกายของเราได้พักผ่อนอยู่นิ่งๆ

โรคไมเกรน

8 อย่ารอให้ปวดหัวมากๆ แล้วค่อยกินยา

หลายคนมีความเชื่อว่าไม่ควรกินยาเยอะเพราะเป็นสารเคมี อาจเป็นพิษต่อร่างกายของเราได้ จึงพยายามฝืนทน ยอมปวดหัว ไม่รีบกินยา ทั้งๆ ที่รู้สึกปวดหัวรอจนปวดหัวมากขึ้นจนทนไม่ไหวแล้ว จึงค่อยกินยา ซึ่งก็มักจะรู้สึกไม่สบายจนไม่เป็นอันทำอะไรแล้ว

เมื่อเรารู้สึกปวดหัว ควรรีบกินยาทันที เพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด หากปล่อยทิ้งไว้ แทนที่อาการจะดีขึ้นอาการกลับยิ่งแย่ลงไปอีก

9 บอกให้คนรอบข้างรู้ว่าเราป่วยเป็นโรคนี้

ความรู้ และ ความเข้าใจของคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญ เพราะโรคไมเกรนเป็นโรคที่ไม่ได้แสดงออกภายนอกให้เห็น ไม่ได้มีรอยฟกช้ำ รอยบาดแผลภายนอกให้คนทั่วไปสังเกตเห็นได้ แต่เป็นเรื่องของ “ความรู้สึก” ที่รู้สึกอยู่ภายในตัวผู้ป่วย บางครั้งเมื่ออาการกำเริบขึ้น จึงอาจทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจ ว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นหนักหนาขนาดไหน การบอกให้คนรอบข้างเข้าใจถึงอาการ และความรุนแรงของโรคจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อที่เวลาที่เกิดอาการขึ้นมา คนรอบข้างจะได้ดูแลได้อย่างถูกวิธี และรู้สึกเข้าอกเข้าใจ ว่าทำไมผู้ป่วนจึงจำเป็นต้องลาป่วย หรือจำเป็นต้องหยุดงาน เป็นต้น

10 ควรจดบันทึกอาการปวดหัว

หากคุณกำลังลังเล ไม่แน่ใจว่าตัวเรากำลังเป็นโรคไม่เกรนอยู่หรือเปล่า วิธีสังเกตที่ง่ายที่สุดคือการ “จดบันทึกอาการปวดหัว” เป็นประจำ โดยจดอย่างละเอียดว่าปวดหัวมากน้อยแค่ไหน วันไหน ช่วงเวลาไหน รักษาอย่างไร แล้ววันกินอะไร ทำอะไรบ้าง เพื่อสังเกตดูว่าเรามีอาการมากน้อยแค่ไหน มีความถี่แค่ไหน เพื่อที่จะสามารถปรึกษาแพทย์ได้อย่างถูกจุด และหาสาเหตุของอาการได้อย่างชัดเจน

บทความเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

10 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ โรคไมเกรน อาการปวดหัวที่คอยกวนใจคนวัยทำงาน
Article Name
10 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ โรคไมเกรน อาการปวดหัวที่คอยกวนใจคนวัยทำงาน
Description
โรคไมเกรน อาการปวดหัวที่มักจะเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว แถมยังมีอาการที่รุนแรง ไม่เป็นอันทำงานทำการ กระทบต่อการใช้ชีวิต และการทำงานอย่างมาก วันนี้ Goodlifeupdate จึงขอนำ 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคไมเกรน โรคปวดหัว ที่ชวนให้ปวดหัวมาฝากทุกคนกันค่ะ
Publisher Name
Goodlifeupdate

ดูเนื้อหาต้นฉบับ

ที่มา : https://goodlifeupdate.com/lifestyle/185708.html
ขอขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/lifestyle/185708.html