26 พ.ค. 2563 13:48 น.
“ประจำเดือนมามากผิดปกติ” สาวๆ รู้หรือไม่ นั่นคือสัญญาณอันตรายที่ Lady MIRROR ไม่ควรละเลยหรือมองข้าม เพราะนั่นคือสัญญาณความผิดปกติของ “เนื้องอกมดลูก” โดยเฉพาะกับสาวๆ ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยระหว่างวันบ่อยๆ บางคนถึงขั้นเปลี่ยนทุกชั่วโมงก็มี จริงอยู่…การเปรียบเทียบปริมาณ “ประจำเดือน” ของแต่ละคนอาจเท่ากันและยากจะเปรียบเทียบว่ามากหรือน้อย แต่ถ้าคุณต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยมากกว่า 4 แผ่นต่อวัน และมีลิ่มเลือดข้นๆ ไหลปะปนมากับประจำเดือน จงอย่านิ่งนอนใจไป เพราะลักษณะดังกล่าวจะพบได้บ่อยกับผู้ที่มี “ภาวะมีเลือดประจำเดือนมามากผิดปกติ” MIRROR อยากให้ทุกคนตระหนักและเห็นความสำคัญของสัญญาณอันตรายนี้ ก่อนจะไปพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจอย่างจริงจัง มาค่ะ…เรามารู้จักเรื่องราวของ “เนื้องอกมดลูก” พร้อมๆ กัน
สัญญาณ “เนื้องอกมดลูก” ที่มาจาก “ประจำเดือนมามากผิดปกติ”
“เนื้องอกมดลูก” คือ
“เนื้องอกมดลูก” (Myoma Uteri หรือ Uterine Fibroid) คือ “โรคของกล้ามเนื้อมดลูก” เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเซลล์กล้ามเนื้อของมดลูกที่ผิดปกติ อาจเกิดในเนื้อมดลูกหรืออยู่ในโพรงมดลูก หรือโตเป็นก้อนนูนออกมาจากตัวมดลูก และบางคนอาจคลำพบได้ ทั้งนี้ “เนื้องอกมดลูก” จึงเป็นเนื้องงอกชนิดไม่ร้ายที่เกิดขึ้นในมดลูก และเป็นโรคที่พบได้มากในผู้หญิง ถึงขนาดที่กล่าวได้ว่า ในผู้หญิงที่มีประจำเดือน 3-4 คน จะพบ 1 คนที่เป็นโรคนี้
“เนื้องอกมดลูก” ไม่ใช่เนื้อร้าย
“เนื้องอกมดลูก” ส่วนใหญ่ไม่ใช่เนื้อร้าย โดยพบว่าเนื้องอกนั้นจะกลายเป็นเนื้อร้าย หรือมะเร็งไม่ถึง 1% โดยก้อนเนื้องอกที่เกิดขึ้นอาจเกิดเป็น 1 ก้อนใหญ่ หรือก้อนเล็กๆ หลายก้อน และเมื่อก้อนเนื้องอกโตขึ้น จะไปกดทับอวัยวะบริเวณใกล้เคียง จนส่งผลแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ขณะที่บางคนเนื้องอกมดลูกอาจไม่โตขึ้น และไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ เลย โดยเนื้องอกมดลูกนั้นถูกพบมากในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุประมาณ 30-50 ปี
สาเหตุการเกิด “เนื้องอกมดลูก”
แม้ในทางการแพทย์นั้นยังไม่พบสาเหตุการเกิดของเนื้องอกมดลูกที่แท้จริง แต่ก็พบว่า… “เนื้องอกมดลูก” มีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศหญิง อย่างฮอร์โมนเอสโทรเจนซึ่งสร้างในรังไข่ จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมหญิงวัยเจริญพันธุ์จึงมีอัตราการเกิดเนื้องอกในมดลูกสูง และเนื้องอกมักจะฝ่อตัวเล็กลง หลังจากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
ประเภทของ “เนื้องอกมดลูก”
เนื้องอกมดลูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามตำแหน่งที่เกิด
- เนื้องอกที่โพรงมดลูก (Submucosal fibroid) เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเลือด “ประจำเดือนมากผิดปกติ” ปกติเนื้องอกโพรงมดลูก จะเกิดอยู่บริเวณใต้เยื่อบุภายในโพรงมดลูก โดยก้อนเนื้องอกที่โตขึ้นแล้ว จะดันเข้าไปในโพรงมดลูก ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกขยายตัว ส่งผลให้ปริมาณเลือดประจำเดือนเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
- เนื้องอกที่ชั้นกล้ามเนื้อ (Intramural fibroid) เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นภายในกล้ามเนื้อมดลูก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบก้อนเนื้องอกได้บ่อยที่สุด ตอนที่เนื้องอกยังเล็กจะไม่แสดงอาการใดๆ แต่เมื่อก้อนเนื้องอกโตขึ้น จะมีอาการเดียวกับเนื้องอกที่โพรงมดลูก คือ มีภาวะมีเลือดประจำเดือนมากผิดปกติและโลหิตจาง
- เนื้องอกที่ผิวด้านนอกมดลูก (Subserosal fibroid) เป็นประเภทที่มีก้อนเนื้อโตและอยู่นอกมดลูก ไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณเลือดประจำเดือน แต่เมื่อโตขึ้นจะดันออกมาที่ผิวด้านนอกมดลูก ดันกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อยหรือท้องผูก บางครั้งทำให้ท้องโตจนเห็นได้ชัด
การรักษา “เนื้องอกมดลูก”
การรักษา “เนื้องอกมดลูก” หลักๆ คือ สามารถรักษาด้วยยาและการผ่าตัด โดยการรักษาด้วยยา มีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งอาการทรมาน คือหากมีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเกิดจากภาวะมีเลือดประจำเดือนมากผิดปกติ แพทย์จะสั่งยาบำรุงโลหิตให้ หรือหากความเจ็บปวดรุนแรง ก็จะสั่งยาแก้ปวดให้ ส่วนการรักษาด้วยการผ่าตัด คือการตัดเอาเนื้องอกออก มี 2 วิธี คือ ผ่าตัดลอกออกเฉพาะเนื้องงอก และการผ่าตัดนำมดลูกออกทั้งหมด ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญของสาวๆ เลย ว่ายังต้องการตั้งครรภ์มีบุตรหรือไม่
รักษา “เนื้องอกมดลูก” จัดการ “ประจำเดือนมามากผิดปกติ”
สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการตั้งครรภ์ นอกจากการผ่าตัดนำมดลูกออก ยังมีวิธีการจี้ทำลายเนื้องอกด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์ เพื่อทำให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลง นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาแบบใหม่ที่เรียกว่า การจี้ทำลายเยื่อโพรงมดลูกด้วยคลื่นไมโครเวฟ เพื่อจัดการภาวะมีเลือด หรือ “ประจำเดือนมามากผิดปกติ” ที่เกิดจากเนื้องอกมดลูก อย่างไรก็ตาม หากฮอร์โมนเอสโทรเจนลดลงเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน เนื้องอกมดลูกก็จะมีขนาดเล็กลงด้วย แถมอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็จะทุเลาลงเช่นกัน
เอาล่ะสาวๆ นี่คือเรื่องราวของภาวะมีเลือด หรือ “ประจำเดือนมามากผิดปกติ” ที่เกิดจาก “เนื้องอกมดลูก” ผู้หญิงคนไหนที่มีอาการดังกล่าว MIRROR แนะนำให้รีบไปพบแพทย์นะคะ “สุขภาพ” อย่าชะล่าใจไป เพราะนี่คือ…สัญญาณเตือนของร่างกาย!
ที่มา : https://www.thairath.co.th/women/beauty/health/1853586
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/women/beauty/health/1853586