รู้จักอาการ “ภูมิแพ้” ที่ไม่ใช่ “โควิด-19”

24 เม.ย. 2563 11:32 น.

ติด “โควิด-19” รึยัง?? คำถามที่ยังกึกก้องอยู่ในความคิดของ Lady MIRROR หลายคน ขณะที่บางคนแค่มีอาการเจ็บคอ มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย หรือแค่ระคายคอ ก็คิดว่าตัวเชื้อไวรัสโควิดเข้าแล้ว โดยเฉพาะกับคนที่เป็นโรค “ภูมิแพ้” ในช่วงที่ฝนตกบ่อยๆ แบบนี้ ทำให้เกิดอาการคล้ายเป็นไข้หวัด ซึ่งแต่ละอาการของ ไข้หวัด ภูมิแพ้ รวมถึงโควิด-19 ต่างก็อาการไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ทีนี้เราจะทำอย่างไรดีถึงจะแยกอาการออก ว่าเราเป็นภูมิแพ้ หรือโควิด 19 กันแน่ วันนี้ MIRROR มีข้อมูลมาฝาก โดย อ.นพ.มงคล สมพรรัตนพันธ์ อาจารย์สาขาวิชาโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรค “ภูมิแพ้” ไว้อย่างน่าสนใจ ไปฟังพร้อมๆ กัน

รู้จักอาการ “ภูมิแพ้” ที่ไม่ใช่ “โควิด-19”

ภูมิแพ้ คือ?

“ภูมิแพ้” คือ ปฏิกิริยาความคุ้มกันที่ไวเกินของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารที่เรามักจะเจอในธรรมชาติ เกิดขึ้นได้ทั้งจากพันธุกรรม และสภาพแวดล้อม เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้หรือภูมิแพ้อากาศ โรคภูมิแพ้อาหาร โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ เป็นต้น

1 ใน 3 พบบ่อยในวัยรุ่น ผู้ใหญ่ตอนต้น

สำหรับสาเหตุหลักๆ เกิดจากมลพิษทางอากาศ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่ไม่เคยเป็นภูมิแพ้มาก่อนเกิดอาการภูมิแพ้ได้ ซึ่งปัจจุบันโรคภูมิแพ้อากาศเป็นโรคที่เจอได้ถึง 1 ใน 3 ของคนไทย ส่วนใหญ่พบบ่อยในวัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น อาการทั่วไปของโรคนี้มักจะมีน้ำมูกไหล คัดจมูก หรือจามเป็นชุดๆ อยู่หลายครั้ง

สารพัดต้นเหตุ “ภูมิแพ้”

ทั้งนี้ มลพิษทางอากาศสามารถพบได้ทั้งในสถานที่เปิด ซึ่งมักพบมลพิษประเภทก๊าซพิษต่างๆ เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โอโซนไนโตรเจนไดออกไซด์ รวมถึงฝุ่นละออง เช่น PM10 PM2.5 PM0.1 เกสรดอกไม้ เป็นต้น และสถานที่ปิด มักพบมลพิษ พวกไรฝุ่น ตามแหล่งที่นอน ปลอกหมอน ผ้าม่าน ซึ่งไรฝุ่นสามารถอยู่ได้ทุกที่ที่มีฝุ่น ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่แค่เฉพาะตามที่นอนเท่านั้น ควันพิษจากบุหรี่ มลพิษที่มาจากการหุงต้มต่างๆ การแพ้โปรตีนจากขนสัตว์ หรือฝุ่นละอองที่ติดมาจากขนสัตว์ เครื่องปริ้นต์เอกสาร เครื่องถ่ายเอกสารจากการที่ปล่อยละอองหมึก ก็สามารถทำให้เกิด “ภูมิแพ้” ได้

รวมวิธีลดอาการ “ภูมิแพ้”

ส่วนวิธีดูแลตัวเองง่ายๆ คือ หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญต้นเหตุของโรคภูมิแพ้ หรือการสวมใส่หน้ากากเมื่อออกไปตามท้องถนน ควรจะเป็นหน้ากาก N95, การดูแลสุขภาพร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย นอกจากนี้ควรหมั่นทำความสะอาดเพื่อลดฝุ่น หรือลดมลพิษภายในบ้าน การติดตามข่าวมลพิษ ติดตามรักษาโรคภูมิแพ้กับแพทย์อย่างต่อเนื่องช่วงที่มลพิษสูง การใช้เครื่องฟอกอากาศ ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้

ดูเนื้อหาต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/women/beauty/health/1827144
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/women/beauty/health/1827144