พิษ “PM 2.5” ทำร้ายผิวพรรณ ผิวหน้า และเส้นผม

4 มี.ค. 2563 13:41 น.

ฝุ่น “PM 2.5” ฝุ่นผงขนาดเล็กที่ Lady Mirror หลายคนอาจมองข้าม เพราะหลายๆ ครั้งสาวๆ ก็เผอเรอที่จะใส่แมสก์ออกนอกบ้าน หรือออกจากที่ทำงาน วันนี้ MIRROR จึงมีเรื่องฝุ่น PM 2.5 มาเล่าให้ฟัง ถึงอันตรายที่เราทุกคนจะต้องพบเจอโดยไม่รู้ตัวถ้าทุกคนยังชะล่าใจ เพราะปัญหาด้านสุขภาพที่จะเกิดจาก PM 2.5 มันไม่เล็กเท่าขนาดผงฝุ่น ดังนั้นเราจึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหา ผลกระทบ โรคภัย และวิธีรับมือ PM 2.5 อย่างถูกวิธี หลังเราได้ข้อมูลมาจากงานกิจกรรมการเรียนรู้ การปกป้องตัวเองจากมลภาวะพิษ PM 2.5 ที่บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด จัดขึ้น งานนี้ ดร.พรธิดา เทพประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นผู้ให้ข้อมูลกับเราในหลายเรื่อง เราไปฟังพร้อมๆ กัน รับรองมีประโยชน์ต่อสาวๆ แน่นอน

รู้จัก PM 2.5 พิษร้ายโลหะหนัก

ฝุ่น PM 2.5 มีส่วนประกอบของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจน ตลอดจนสารพิษอื่นๆ ที่อันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เช่น โลหะหนัก อย่าง สารปรอท แคดเมียม อาร์เซนิก ผลกระทบต่อสุขภาพที่เห็นได้ชัดเจนคือ เกิดอาการไอ จาม หรือภูมิแพ้ ซึ่งผู้ที่เป็นภูมิแพ้ฝุ่นอยู่แล้ว จะยิ่งถูกกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น

อาการไม่ปรากฏ เพราะร่างกายกำลังสะสมพิษ PM 2.5

สิ่งที่น่ากลัวกว่าอาการที่ปรากฏก็คือ โรคที่อาจยังไม่แสดงอาการในทันที แต่การสะสมสารพิษ PM 2.5 เหล่านี้ จะนำไปสู่โรคร้าย เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหลอดเลือดและหัวใจเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง หรือมะเร็งปอด ได้ในที่สุด

“ความคุ้นชิน” ทำให้ละเลยในการป้องกันตนเอง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงของปัญหาฝุ่น PM 2.5 คือ “ความคุ้นชิน” ไม่ตระหนักถึงผลเสียต่อสุขภาพ เนื่องจากผลกระทบทางสุขภาพของฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่อาการ หรือโรคที่รุนแรงเฉียบพลัน แต่เป็นโรคที่มีลักษณะเรื้อรัง บั่นทอนสุขภาพลงไปทีละนิด ทำให้ผู้คนไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาที่ต้องรีบจัดการ อาจนำมาสู่การละเลยที่จะป้องกันตนเองในที่สุด

ตระหนัก = ใส่ “แมสก์”

การตระหนักและป้องกันตนเองด้วยการใส่ “แมสก์” หรือการใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อป้องกัน “PM 2.5” เป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งการจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ว่าจะการเผาในการเกษตร การจราจรขนส่ง หรือโรงงานอุตสาหกรรม จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย บนกฎหมายและการบังคับใช้ที่เข้มงวด ก็ล้วนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และไม่น่าจะสำเร็จได้เร็ววัน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการดูแลป้องกันสุขภาพส่วนบุคคล จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก

“ผิวพรรณ” หยาบกร้าน ไม่เรียบเนียน

ออกไซด์ต่างๆ ที่ปะปนอยู่ในฝุ่น PM 2.5 มักมาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ เป็นตัวการสำคัญที่กระตุ้นให้ “ผิวหนัง” หรือ “ผิวพรรณ” เกิดการอักเสบ เป็นผลกระทบด้านความงามที่เห็นได้ชัดที่สุด มีลักษณะเป็นผื่นคัน บวม แดง หรือระคายเคือง หากเป็นเรื้อรัง ก็จะส่งผลให้ผิวหนังบริเวณนั้นๆ หนาขึ้น ให้สัมผัสที่หยาบกร้าน ไม่เรียบเนียน

PM 2.5 ทำให้ “ผิวหน้า” เกิดริ้วรอย ผิวคล้ำดำขึ้น

นอกจากนี้ฝุ่น “PM 2.5” ยังมีส่วนผสมของสารก่ออนุมูลอิสระ สามารถทำร้ายผิวได้ลึกถึงในระดับเซลล์ โดยก่อให้เกิดภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (Oxidative Stress) ซึ่งความเครียดนี้ จะส่งผลให้มีการทำงานที่ผิดปกติของเซลล์และเกิดพิษต่อเซลล์ นอกจากนี้ยังมีการวิจัยที่ระบุว่าฝุ่น PM 2.5 มีผลต่อการเกิดริ้วรอยบน “ผิวหน้า” และเม็ดสีผิวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผิวคล้ำดำขึ้นอีกด้วย

“เส้นผม” สะสมมลพิษ

อีกจุดของร่างกายที่มีการสะสมของมลพิษ “PM 2.5” ได้มาก ก็คือบริเวณศีรษะ เพราะ “เส้นผม” ของผู้หญิงเป็นที่สะสมฝุ่นได้มาก ยิ่งเป็นเส้นผมที่มีความมัน สิ่งสกปรกและฝุ่น ก็ยิ่งเกาะติดได้มาก นำมาสู่ปัญหาหนังศีรษะได้ในที่สุด ผู้หญิงจึงควรสระผมให้บ่อยขึ้นในช่วงที่มีวิกฤติสภาพอากาศ

สเตปปกป้อง “PM 2.5”

1. การปกป้องตนเองจาก PM 2.5 คือการเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากไม่สามารถเลี่ยงได้ ก็ควรสวมหน้ากาก N-95 เพื่อปกป้องทางเดินหายใจ สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด เพื่อให้ผิวสัมผัสกับ PM 2.5 น้อยที่สุด การเลือกเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้านุ่ม อย่างผ้าฝ้าย ก็เป็นส่วนช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความระคายเคืองผิวมากขึ้น

2. ปัจจุบันก็ยังมี “เครื่องสำอาง” ที่ช่วยปกป้องผิวจากมลภาวะออกมาให้ได้เลือกใช้มากมาย รวมทั้งการ “แต่งหน้า” ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยปกป้องผิวจากมลภาวะอย่างที่ใครก็คิดไม่ถึง

3. แม้อยู่ในที่ร่มหรือสถานที่ปิด ก็ไม่ได้การันตีว่าจะรอดพ้นจาก PM 2.5 เนื่องจากแต่ละสถานที่มีระบบอากาศที่แตกต่างกัน และส่วนใหญ่มักไม่สามารถกรองฝุ่นที่มีขนาดเล็กขนาด PM 2.5 ได้ การใช้เครื่องฟอกอากาศช่วยจึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับการดูแลสุขภาพและความงาม

4. สำหรับการดูแลสุขภาพและความสวยงาม ภายหลังจากการเผชิญมลภาวะและฝุ่น PM 2.5 จำเป็นต้องเริ่มจากการทำความสะอาด โดยเฉพาะ “ผิวหน้า” ที่มีความบอบบางเป็นพิเศษ และต้องสัมผัสกับอากาศอย่างเลี่ยงไม่ได้ ควรเลือกใช้คลีนซิ่งที่ทำความสะอาดได้ล้ำลึก อย่างการเช็ดด้วยคลีนซิ่งวอเตอร์หรือคลีนซิ่งออยล์ แล้วตามด้วยการล้างด้วยโฟมหรือเจลล้างหน้า เพื่อชำระความมันที่ตกค้างบนผิว การใช้โทนเนอร์เช็ดหลังล้างหน้า นอกจากจะช่วยปรับสภาพผิวให้สมดุลก่อนการบำรุง ก็ยังช่วยดึงความสกปรกออกมาได้อีกขั้นตอนหนึ่ง

5. นอกจากนี้สาวๆ ยังสามารถดูแล “ผิวหน้า” เป็นพิเศษเพิ่มเติมได้ ด้วยการแมสก์หน้า สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ด้วยแมสก์ที่มีส่วนผสมของสารดูดซับ เช่น โคลน คาร์บอน หรือชาร์โคล ก็จะช่วยทำความสะอาดรูขุมขนได้ล้ำลึกขึ้น

6. การสระผมก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดการสะสมของฝุ่น PM 2.5 ที่ “เส้นผม” อาจนำมาซึ่งโรคหนังศีรษะ สาวๆ ควรสระผมให้บ่อยขึ้น และอย่าลืมเป่าให้แห้งทุกครั้ง เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็อาจถูกเชื้อราถามหาได้นะ

7. การดื่มน้ำให้เพียงพอ ก็เป็นเรื่องพื้นฐานในการดูแลสุขภาพพที่ละเลยไม่ได้ เพราะมีผลให้ร่างกายสามารถขับสารพิษต่างๆ ได้ดีขึ้น ขณะที่การรับประทานผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการลดผลกระทบต่อสุขภาพที่มีผลจากฝุ่น PM 2.5 สาวๆ อาจพิจารณาเลือกรับประทานอาหารเสริมที่ต่อต้านอนุมูลอิสระด้วย

ดูเนื้อหาต้นฉบับ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/women/beauty/health/1782780
ขอขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/women/beauty/health/1782780